สรุปหนังสือ Atomic Habit — Part 2

Kanin Kearpimy
2 min readJul 9, 2021

สภาพแวดล้อมสำคัญต่อพฤติกรรมอย่างไร

สิ่งแวดล้อมนอกจากสภาพรอบตัวแล้ว ยังหมายถึงผู้คนที่อยู่รอบตัวด้วย โดยมีกลุ่มคน 3 รูปแบบที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา

  1. กลุ่มคนที่ใกล้ชิดรอบตัวเรา
  2. กลุ่มคนส่วนใหญ่
  3. กลุ่มคนที่มีอำนาจ

กลุ่มคนที่ใกล้ชิดรอบตัว

พฤติกรรมการแสดงออกของคนรอบตัวสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อตัวเราได้ เช่น หากเรามีเพื่อนที่ชอบออกกำลังกาย ย่อมไม่แปลกที่เราจะถูกกระตุ้นให้ออกกำลังกายไปโดยไม่รู้ตัว การเลือกนิสัยที่ส่งเสริมจากคนใกล้ตัวย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่า

การทำตามกลุ่มส่วนใหญ่

เราได้รับแรงผลักดันภายนอก จากสังคมที่เราอยู่ในทุกระดับไม่ใช่เฉพาะคนใกล้ชิด แต่รวมถึงสังคมระดับชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าวัฒนธรรมของสถานที่ต่าง ๆ ดังนั้นการเลือกสถานที่ ที่กลุ่มส่วนใหญ่ชอบการเขียน Program ที่อ่านง่าย เราย่อมสามารถสร้างนิสัยนั้น ได้ดีกว่า

การทำตามกลุ่มตัวอย่างที่มีอำนาจ

เราต้องการเป็นผู้ที่ถูกยอมรับ และเรามักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนที่ถูกคนส่วนมากยอมรับโดยไม่รู้ตัว เช่น การอยากเป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีที่ดี กลุ่มนี้ยังสามารถเป็นต้นแบบ (Role Model) ให้เราได้ทำตาม และสร้างพฤติกรรมได้อีกด้วย ดังนั้นเลือก Role Model ให้ดี

หากเราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ในด้านบวกเข้ากับนิสัยได้ เราจะสามารถสร้างนิสัยอะไรก็ได้ แม้จะยากแค่ไหน

เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร พฤติกรรมของเราถูกสร้างขึ้นจากการตีความของสมอง เช่น คนสองคนมองบุหรี่ คนแรกตีความว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ลดความเครียด อีกคนตีความว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทุก ๆ พฤติกรรมที่แสดงออกมา มีความปรารถนาแอบแฝงอยู่เสมอ เช่น การอยากได้ที่ 1 เพราะจริง ๆ อยากเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นต้น

วิธีการ: เปลี่ยนคำว่า “ต้อง” เป็นคำว่า “มีโอกาส” เพราะจะทำให้สมองตีความสิ่งที่ “ภาระที่ต้องทำ” เป็น “โอกาส” ที่จะทำ

การปรับความคิด ทัศนคติต่อนิสัยที่ต้องการสร้าง ให้เน้นมองที่ “ข้อดี” ของนิสัยนั้น ๆ เช่น

  • การออกกำลังกาย: เมื่อจะออกไปวิ่ง ให้คิดว่า “กำลังจะไปฝึกความอดทนและทำอะไรให้รวดเร็วแล้ว”
  • การฝึกเขียน Coding: “กำลังจะไปฝึกวิธีการแก้ปัญหา ในรูปแบบใหม่ๆ แล้ว”

วิธีการปรับทัศนคติด้านบน สามารถเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลได้ หากคุณเป็นคนไม่ชอบทำอะไรเร็ว การออกกำลังกายอาจจะมีข้อดีอย่างอื่นที่สามารถนำมาเชื่อมโยง เพื่อให้เห็นด้านบวก

เราสามารถเชื่อมพฤติกรรมเข้ากับสิ่งที่เพลิดเพลินได้ เช่น ในขณะกำลังทำงานที่ใช้สมอง อาจจะหาสถานที่โล่ง ๆ (เพราะผู้สรุปเป็นคนชอบสถานที่โล่ง ปลอดโปร่ง) ก็จะทำให้รู้สึก enjoy กับการทำงานไปได้

จงฝึกฝนให้มากกว่าการวางแผน

นิสัยถูกสร้างได้จากจำนวน “ความถี่” ของการแสดงพฤติกรรมนั้น ๆ อาทิ

  • คนที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือแล้วสรุป
  • คนที่อ่านหนังสือจบ 10 นาที แล้วสรุป ทำวนซ้ำๆ ไป 2 ชั่วโมง

คนประเภทที่ 2 สรุปทุกๆ 10 นาที มีแนวโน้มที่จะสร้างนิสัย “การเป็นนักสรุป” ได้ดีกว่าคนที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพราะว่ามีความถี่เยอะกว่าในการกระทำ

นิสัยถูกสร้างขึ้นจากการกระทำซ้ำๆ หากสังเกตุ นิสัยคือสิ่งที่เรา “กระทำโดยอัตโนมัติ” เมื่อใดที่เราทำโดยไม่ต้องคิดได้ นั้นคือสัญญาของนิสัยที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว

กฎแห่งความพยายามน้อยที่สุด (The Law of Least Effort)

มนุษย์จะเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำบางสิ่ง เช่น เราเลือก ส่งข้อความทาง LINE มากกว่าจะส่ง SMS เราเลือกจะสั่ง Grab แทนที่จะทำอาหารเอง หากเรามีเวลาน้อย ทุกๆ พฤติกรรม/นิสัย ย่อมมีอุปสรรค์ การ ลด หรือ เพิ่ม อุปสรรค์เหล่านั้นย่อมสามารถส่งผลให้พฤติกรรมเกิดได้ง่าย หรือ ยากขึ้น เช่น

  • การนำรองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์ออกกำลังกายไว้ข้างโต๊ะทำงานหรือที่ที่สายตามองเห็นได้ง่าย สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการออกกำลังกาย
  • การวางหนังสือไว้ใกล้ตัว ย่อมง่ายต่อการหยิบอ่าน และสร้างนิสัยรักการอ่านได้
  • การไม่นำอาหารที่มีไขมันสูงไว้ในตู้เย็น ย่อมสามารถลดการกินอาหารไขมันได้ง่าย

การลองวิเคราะห์นิสัย และทำให้การ “ทำ” นิสัยเหล่านั้นง่ายขึ้น ย่อมจะส่งผลดีในการสร้างนิสัย

เริ่มจากเรื่องที่ง่ายที่สุดก่อน

ลองดูว่านิสัยที่อยากสร้างคืออะไร แล้วลองเริ่มทำจากเรื่องที่ “ง่ายที่สุด” หรือจะเรียกว่า “กฎ 2 นาที” ก็ได้ หลักการคือทำในสิ่งที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที เช่น

  • ต้องการวิ่งมาราธอน ให้ลองเริ่มจากการใส่รองเท้าวิ่ง ทุกวัน
  • ต้องการเขียนโปรแกรม ให้เริ่มจากการเปิด Code Editor ทุกวัน
  • หากต้องการรักการอ่าน ให้ลองเปิดหนังสือ ทุกวัน

ทุก ๆ นิสัยแม้จะง่าย ย่อมมีเรื่องที่ง่ายในตัวเสมอ ให้ลองทำจากตรงนั้น “เน้นความถี่” เพื่อทำให้สมองจดจำสิ่งที่ต้องทำ แล้วค่อยเสริมความยากขึ้นไปเลื่อยๆ เช่น

อยากสร้างนิสัยที่แก้สมการคณิตศาสตร์ทุกวัน:

  • ง่ายมาก: เปิดหน้าแรกของหนังสือ Math ทุกวัน
  • ง่าย: อ่านสารบัญ ทุกวัน
  • ปานกลาง: เริ่มอ่านและแก้โจทย์วันละ 1–2 ข้อ
  • ยาก: อ่าน แก้โจทย์ 3–5 ข้อ พร้อมทำสรุป
  • ยากมาก: แก้สมการคณิตศาสตร์ระดับยากๆ ทุกวัน

ซึ่งเราจะแบ่งระดับความง่าย ไป ยาก โดยที่ระยะเวลาในการอยู่แต่ละระดับ ให้เราเป็นคนกำหนดเองจาก “ความรู้สึกถึงระดับยากมาก” เช่น หากเราเป็นคนที่มองว่า คณิตศาสตร์เป็นเรื่องยากมากๆ เราอาจจะไม่ต้องรีบเลื่อนระดับไป ในช่วง “ง่ายมาก, ง่าย” แต่พอเริ่มทำจนติดเป็นนิสัยแล้ว การเลื่อนระดับจะง่ายไปเอง

การสร้างข้อผูกมัดสามารถช่วยลดการผัดวันประกันพรุ่งได้

หลายครั้ง เราอยากทำงาน แต่ก็หาวิธีผลัดไปพรุ่งนี้ บางทีอาจจะเป็นเพราะเรา “มองว่าตัวงานนั้นไม่ได้ผูกมัดกับเรา” เช่น การที่เราไม่ยอมอ่านหนังสือให้จบเล่ม อาจเพราะไม่มีอะไรมาผูกมัดให้เราอ่าน ไม่มีบทลงโทษอะไรถ้าอ่านไม่จบ

ดังนั้นการสร้างข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขบางอย่างจะช่วยได้ เช่น หากว่าอยากอ่านหนังสือให้จบเล่ม แต่รู้ตัวว่าสิ่งที่ชอบมารบกวนคือโทรศัพท์ ให้ลองนำโทรศัพท์ไปเก็บใส่ลิ้นซักไกลๆ ตัว ในช่วงกลางวัน จะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองไม่มีสิ่งรบกวน และสามารถโฟกัสอ่านหนังสือได้

อีกตัวอย่าง: หากเราอยากเขียนหนังสือให้จบเล่ม ให้ลองลบเกมส์ ลบ Social Media นำเสื้อผ้าไปใส่ในตู้แล้วล็อค เก็บตัวไกลๆ ผู้คน กำจัดสิ่งรบกวน เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ตัวเอง จากนั้นลงมือเขียนหนังสือ อาจจะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น

หรือง่ายกว่านั้นจ่ายเงินไปเลย เช่น อยากทำ project นอกเวลางานให้เสร็จ ลองนำเงินออกจากบัญชี 50% ของเดือนนี้ ไปเก็บไว้ที่ไหนซักแห่ง และสร้างเงื่อนไขว่า หากเขียนไม่เสร็จ จะไม่นำเงินนี้กลับเข้าบัญชี จะสร้างข้อผูกมัดให้เราทำ project จนเสร็จ

จงให้รางวัล

พฤติกรรมได้ที่กระทำ และได้รางวัลย่อมจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ และ พฤติกรรมได้ที่ได้รับโทษ ย่อมมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ดังนั้นการให้รางวัลในระยะสั้น กับพฤติกรรมที่นำไปสู่นิสัยที่ดี ย่อมสร้างการทำซ้ำได้ดีกว่า เช่น

  • ต้องการเป็นคนเลิกใช้จ่ายฟุ่มเฟือย => เปิดบัญชีธนาคารแล้วเขียนหน้าสมุดว่า “ไปเที่ยวญี่ปุ่น” เมื่อสามารถห้ามตัวเองไม่ให้ซื้อของฟุ่มเฟือยได้ ให้โอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว
  • ต้องการเป็นคนมีสุขภาพที่ดี => หลังออกกำลังกายเสร็จ ให้มีการจดบันทึก หรืออนุญาติให้ตนเองทำกิจกรรมที่อยากทำ

จงติดตามผลของพฤติกรรม การกระทำ นิสัย

การติดตามผลการกระทำจะช่วยทำให้:

  • เห็นผลลัพท์ที่ชัดเจน
  • กระตุ้นอยากให้ทำต่อ
  • รู้สึกพึงพอใจ

ไม่จำเป็นต้องทำกับทุกอย่าง แต่ให้โฟกัสเป็นเรื่องที่สำคัญๆ ซัก 1–3 อย่างเป็นพอ เช่น หากอยากลดน้ำหนัก ให้ทำการจดบันทึกการกินหรือทำเครื่องหมายบนปฏิทินถึงวันที่ได้ออกกำลังกาย โดยวิธีการ “ติดตาม” สามารถทำให้ง่ายขึ้น โดยการใช้เครื่องมืออัตโนมัติได้ (จดบันทึกการกินลง Application)

สูตรการติดตาม:

หลังจากฉันทำ …(พฤติกรรม)… แล้วฉันจะติดตาม ….(ผลของพฤติกรรมนั้นๆ)….

เช่น หลังจากฉันเรียน Online ได้ ฉันจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดภายใน 1 ประโยค (ใช้เทคนิคทำให้ “‘ง่าย” เข้ามาช่วย)

หากตัวเราหยุดทำพฤติกรรมที่ทำมาตลอดไป นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การหยุดทำ “อย่างต่อเนื่อง” นั้นคืออันตราย ดังนั้นหากรู้สึกขี้เกียจ อย่างน้อยให้ “ทำบางอย่างของพฤติกรรม” เช่น เป็นคนชอบวิ่ง 30 นาทีมาตลอด แต่วันนึงรู้สึกขี้เกียจและเหนื่อยจากงานมากๆ อย่างน้อยให้สวมชุด และออกไปวิ่งซัก 10–15 นาที และวันพรุ่งนี้ให้กลับมาวิ่ง 30 นาทีตามเดิม

การสร้างพันธะสัญญาสร้างนิสัย

จงสร้างสัญญาที่มีผู้อื่นรับรู้อยู่ด้วยในการสร้างนิสัย เช่น หากต้องการมีนิสัยชอบอ่านหนังสือ อาจจะลองทำสัญญาขึ้นมา ในรูปแบบกระดาษ หรือปากเปล่าก็ได้ ขอแค่ให้มี “ผู้อื่น” รับรู้ในสัญญานั้น และมี “ข้อผูกมัด/บทลงโทษ” ที่ชัดเจน เช่น

อยากสร้างนิสัยรักการอ่าน: ให้จับกลุ่ม 2 คนและสัญญาว่าจะมีการมาสรุปหนังสือให้กันฟัง 2 สัปดาห์ต่อ 1 เล่ม หากว่าทำไม่ได้ จะต้องมีการจ่ายค่าลงโทษเป็นการเลี้ยงข้าว เป็นต้น

บทสรุปและวิเคราะห์

การสร้างนิสัยนั้นเกิดจากพฤติกรรมที่เรากระทำในทุก ๆ วัน หนังสือพยายามสื่อสารว่านิสัยจะเกิดได้จาก 4 ลำดับขั้น

  1. ปัจจัยกระตุ้น
  2. แรงปรารถนา
  3. การตอบสนอง
  4. รางวัล

หากเราต้องการสร้างนิสัยเราเพียงแค่ต้องรู้วิธีการจัดการในแต่ละลำดับให้ได้ผลออกมาดี เราก็จะสามารถสร้างนิสัยได้

--

--

Kanin Kearpimy

Software Engineer who passionate in Machine Learning. Love Mathematic, Programming, Public Speaking, and Writing.